รวมแหล่งท่องเที่ยวเมืองหนองคายและจุดเช็คอิน กินเที่ยวที่ไม่ควรพลาดเมื่อท่านมาถึงจังหวัดหนองคาย
ถึงหนองคายแล้วไปที่ไหนดีหว่า?
👉ในเขตเมืองและรอบเมืองได้แก่ วัดหลวงพ่อพระใสหรือวัดโพธิ์ชัย ลานพญานาควัดลำดวน พระธาตุหล้าหนองหรือพระธาตุกลางน้ำ ตลาดท่าเสด็จ อนุสาวรีย์ปราบฮ้อ ศาลาแก้วกู่ พระธาตุพังพวน วังบัวแดง ทุ่งดอกทานตะวันบ้านหาดคำ 👉โซนเหนือ/ตะวันตกได้แก่ หลวงพ่อองค์ตื้อวัดศรีชมภู อ.ท่าบ่อ วัดอรัญญบรรพต อ.ศรีเชียงใหม่ วัดหินหมากเป้ง อ.ศรีเชียงใหม่ วัดผาตากเสื้อ อ.สังคม วัดถ้ำศรีมงคล(ถ้ำดินเพียง) อ.สังคม 👉โซนตะวันออก: วัดไทยโพนพิสัย: จุดชมบั้งไฟพญานาค ถ้ำตำนานพญานาค(จำลอง) เสาบาดาล
⭐พระพุทธรูป "หลวงพ่อพระใส" วัดโพธิ์ชัยพระอารามหลวง
หลวงพ่อพระใส เป็นพระพุทธรูปที่หล่อขึ้นในสมัยล้านช้าง ตามตำนานเล่าสืบต่อกันมาว่า พระธิดา3องค์แห่งกษัตริย์ล้านช้างในขณะนั้นเป็นผู้สร้างและขนานนามตามพระนามของแต่ละพระองค์ว่า พระเสริม พระสุก พระใส มีขนาดลดหลั่นลงตามลำดับ พระใสเป็นพระพุทธรูปประจำองค์สุดท้อง เดิมทีหลวงพ่อพระใสประดิษฐาน ณ เมืองเวียงจันทน์
พ.ศ.2321 พระเจ้ากรุงธนบุรีหรือพระเจ้าตากสินมหาราช ได้อัญเชิญหลวงพ่อพระใสมาไว้ที่เมืองเวียงคำและถูกอัญเชิญมาไว้ที่วัดโพนชัยเมืองเวียงจันทน์ตามลำดับ
ต่อมาในสมัยรัชกาลที่3 พระเจ้าอนุวงศ์เมืองเวียงจันทน์ได้ก่อกบฏ สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิ์พลเสพย์เป็นจอมทัพยกพลมาปราบ หลังจากนั้นจึงได้อัญเชิญ พระเสริม พระสุกและพระใสลงมาด้วย โดยอัญเชิญจากภูเขาควาย(ภูเขาที่มีเรื่องราวเกี่ยวกับเหล็กไหลและพระเกจิชื่อดังสายกรรมฐานหลายองค์)ขึ้นประดิษฐานบนแพไม้ไผ่ที่สร้างขึ้นอย่างมั่นคงแข็งแรงแล้วล่องแพมาตามลำน้ำงึมเมื่อมาถึงตรงบริเวณเวินแท่น(ขณะนั้นยังไม่มีชื่อเรียก)ได้เกิดพายุฝนกระหน่ำอย่างหนักหน่วงจนเป็นเหตุให้แท่นประดิษฐานพระเสริมจมลง ณ บริเวณดังกล่าวและหลังจากนั้นเป็นต้นมาบริเวณดังกล่าวก็ได้ถูกขนานนามว่า"เวินแท่น"จนถึงปัจจุบัน
การล่องแพยังคงดำเนินต่อไปตามลำดับจนแพแล่นผ่านปากน้ำงึมเข้าสู่ลำน้ำโขง เมื่อแพแล่นมาใกล้ถึงบ้านหนองกุ้ง อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย ณ จุดนี้ก็ได้เกิดพายุฝน ลมแรง ซัดกระหน่ำขบวนแพอย่างหนักหน่วงอีกรอบ จนในที่สุดพระสุกได้แหกแพจมลงแม่น้ำโขง ณ บริเวณดังกล่าวมาจวบจนถึงปัจจุบันและนับแต่นั้นเป็นต้นมา บริเวณดังกล่าวก็ได้ถูกขนานนามว่า"เวินสุก"ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
ส่วนพระพุทธรูปที่เหลืออยู่บนแพในขณะนั้นมีเพียงพระเสริมกับพระใสที่ได้ล่องแพมาตามลำน้ำโขงจนถึงจังหวัดหนองคาย พระเสริมถูกอัญเชิญขึ้นประดิษฐาน ณ วัดโพธิ์ชัยส่วนพระใสถูกอัญเชิญขึ้นประดิษฐาน ณ วัดหอกล่องหรือวัดประดิษฐ์ธรรมคุณในปัจจุบัน
ต่อมาในสมัยรัชกาลที่4 สมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้าให้ขุนวรธานีและเจ้าเหม็น(ข้าหลวง)อัญเชิญพระเสริมกับพระใสจากเมืองหนองคายไปกรุงเทพมหานครด้วยกัน พอขบวนเกวียนมาถึงวัดโพธิ์ชัย หลวงพ่อพระใสก็ได้แสดงปาฏิหาริย์จนเกวียนหักบรรดาเหล่าขุนพลทั้งหลายได้ใช้ความพยายามอยู่หลายครั้งเพื่อจะเคลื่อนขบวนต่อแต่ไม่สำเร็จ สุดท้ายจึงได้แต่พระเสริมลงไปกรุงเทพฯเพียงองค์เดียว ปัจจุบันพระเสริมประดิษฐานอยู่ที่วัดปทุมวนาราม(วัดที่ตั้งอยู่ระหว่างสยามพารากอนกับเซ็นทรัลเวิลด์)กรุงเทพมหานคร ส่วนหลวงพ่อพระใสได้ถูกอัญเชิญขึ้นประดิษฐาน ณ วัดโพธิ์ชัยเมืองหนองคายจวบจนถึงปัจจุบัน จากการที่หลวงพ่อพระใสได้แสดงปาฏิหาริย์หลายต่อหลายครั้งจนได้สมญานามว่า "หลวงพ่อเกรียนหัก"
👉เพิ่มเติม: ในบางตำนานกล่าวไว้ว่าพระธิดาทั้ง 3 พระองค์คือพระเสริม พระสุกและพระใส คือพระธิดาของสมเด็จพระไชยเชษฐาธิราชซึ่งเป็นกษัตริย์ผู้ครองนครหลวงเวียงจันทน์ในขณะนั้นและว่ากันว่า พระพุทธรูปทั้ง 3 องค์นี้หล่อสำเร็จขึ้นมาได้ด้วยความร่วมมือกันทั้งมนุษย์และเทวดา ว่ากันว่าในคราวที่หล่อพระพุทธรูปทั้ง 3 องค์ ได้ใช้เวลาในการทำการหล่อหลายวันแต่ไม่แล้วเสร็จ จนกระทั่งเหล่าบรรดาช่าง ประชาชนและข้าราชบริพารต่างๆพากันเหนื่อยล้าจากการหล่อพระจนหมดเรี่ยวแรงไปตามๆกันและพากันเผลอหลับไปและในระหว่างที่พากันหลับไหลอยู่นั้นได้มีชีปะขาวจำนวนหนึ่งได้พากันมาช่วยกันเททองหล่อพระทั้ง 3 องค์นี้ต่อจนแล้วเสร็จก่อนรุ่งอรุณ หลังจากที่ช่างหล่อ ประชาชนและข้าราชบริพารทั้งหลายตื่นขึ้นในช่วงเช้าปรากฏเป็นอัศจรรย์ว่าพระพุทธรูปทั้ง 3 องค์ถูกหล่อขึ้นจนเรียบร้อยแล้วและต่างมาทราบกันภายหลังว่าเหล่าชีปะขาวที่มาช่วยกันหล่อพระพุทธรูปทั้ง 3 องค์นี้ก็คือเทวดาที่แปลงกายลงมานั่นเอง...จบบริบูรณ์
⭐พระธาตุหล้าหนอง(พระธาตุกลางน้ำ)
พระธาตุหล้าหนองหรือพระธาตุกลางน้ำ: ตั้งอยู่ที่หมู่ 11 ต.หาดคำ อ.เมืองหนองคาย จ.หนองคาย โทร: 0422420574
สร้างเมื่อพ.ศ.2390 องค์พระธาตุถูกน้ำกัดเซาะตลิ่งจนองค์พระธาตุไหลลงสู่แม่น้ำโขง ปัจจุบันองค์พระธาตุพลิกตะแคงอยู่กลางลำน้ำโขงอยู่ห่างจากริมฝั่งประเทศไทยประมาณ 200 เมตร ในปัจจุบัน ภายในองค์พระธาตุประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุส่วนฝ่าพระบาทจำนวน 9 องค์
ตามตำนานอุรังคธาตุ(ตำนานพระธาตุพนม) จากการสำรวจใต้น้ำของหน่วยโบราณคดีภาค7พบว่า องค์พระธาตุมีฐานกว้างด้านละ 17.2 เมตร หักเป็น 3 ท่อน สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างในราวสมัยพุทธศตวรรษที่ 20-22 เนื่องจากรูปแบบและรูปทรงการก่อสร้างคล้ายคลึงกับพระธาตุพังพวน ปัจจุบันกรมศิลปากรร่วมกับประชาชนในจังหวัดหนองคาย ได้ร่วมกันก่อสร้างพระธาตุหล้าหนองหรือพระธาตุกลางน้ำจำลองขึ้นเพื่อให้อนุชนรุ่นหลังได้รำลึกถึงความสัมพันธ์ของประชาชนสองประเทศริมฝั่งโขงที่ได้สืบทอดกันมาเป็นเวลายาวนาน
ตามประวัติพระธาตุกลางน้ำหรือพระธาตุหล้าหนองนั้นระบุว่า หลังจากที่พระพุทธเจ้าดับขันธปรปรินิพพานแล้ว พระมหากัสสปเถระท่านได้เดินทางจากกรุงราชคฤห์ แคว้นชมพูทวีป(อินเดียในปัจจุบัน) มุ่งสู่แคว้นโคตรบูรเพื่อให้เป็นศูนย์กลางในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา โดยเฉพาะการสร้างอุโมงค์บรรจุพระอุรังคธาตุ(กระดูกหน้าอกของพระพุทธเจ้า) เมื่อปี พ.ศ.8 ณ ดอยปณคีรี(ภูกำพร้า)อันเป็นที่ประดิษฐานองค์พระธาตุพนมในปัจจุบัน
ต่อมาพระมหากัสสปเถระ ได้มอบให้พระอรหันต์อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ จากกรุงราชคฤห์ มาประดิษฐานในดินแดนสุวรรณภูมิลุ่มน้ำโขง
พระมหาสังฆวิชเถระหนึ่งในพระอรหันต์ดังกล่าวได้รับมอบพระบรมธาตุพระบาทเบื้องขวา 9 พระองค์ไปประดิษฐานไว้เมืองหล้าหนองเมื่อ พ.ศ. 2104 พระเจ้าไชยเชษฐาธิราช ได้นำข้าราชบริพารจากเมืองเวียงจันทน์มาร่วมกับชาวบ้านเมืองหนองคายโดยมาตั้งค่ายอยู่ที่วัดธาตุเพื่อทำการก่อสร้างพระมหาเจดีย์ครอบอุโมงค์ หล้าหนองคาย(ตามชื่อเดิม)ก่อด้วยอิฐถือปูน รูปทรงแบบศิลปะล้านช้าง ฐานเจดีย์ 15.80 ม.แล้วตั้งชื่อว่า "พระธาตุหล้าหนองคาย"
ครั้งหนึ่งพระเทพมงคลรังสี เจ้าคณะจังหวัดหนองคายเคยกล่าวว่า พระธาตุองค์นี้มีขนาดใกล้เคียงกับองค์พระธาตุพนม อำเภอพระธาตุพนม จังหวัดนครพนม ซึ่งบริเวณวัดมีพื้นที่กว่า 100 ไร่ ตั้งอยู่ริมฝั่งโขงเหมือนกัน
ซึ่งตามประชุมพงศาวดารภาค 70 ได้บันทึกไว้ว่า พอฤดูน้ำหลากแม่น้ำโขงไหลเชี่ยวกราดกัดเซาะตลิ่งบริเวณวัดธาตุ พังทลายไปจนถึงองค์พระธาตุหล้าหนองและพระธาตุก็ได้ไหลลงไปตามดินที่ทรุดตัวไปตามกระแสน้ำไปอยู่กลางลำน้ำโขง เมื่อวันศุกร์ขึ้น 9 ค่ำเดือน 9 เวลาค่ำในปี รศ.66,จ.ศ.1204,พ.ศ. 2390
ปัจจุบันพระธาตุหล้าหนององค์จริงจมอยู่กลางลำน้ำโขงหากจากฝั่งประเทศไทยประมาณ 200 เมตร ในปัจจุบัน องค์พระธาตุล้มตะแคงไปตามกระแสน้ำทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ มีฐานเหลี่ยมมุมฉากจากด้านหนึ่งโผล่ขึ้นมาเหนือน้ำเพียงครึ่งฐาน องค์พระธาตุมีรูปทรงทางสถาปัตยกรรมเท่าที่ยังเหลืออยู่เป็นชั้นพื้นฐาน2ชั้น ความสูงของเจดีย์เฉพาะส่วนที่จับต้องได้ 12.20 ม.
พระธาตุหล้าหนองเป็นที่เคารพรักของชาวหนองคายและมีประเพณีเกี่ยวกับพระธาตุทุกปี เช่น บุญบั้งไฟเดือน6 การแข่งเรือยาววันออกพรรษาของทุกปี
ผู้ดูแลพระธาตุหล้าหนองคือ นายเอี่ยม โลธิเสวง คณะกรรมการพระธาตุหล้าหนอง ผู้ดูแลพระธาตุกลางน้ำและอาศัยอยู่ในบริเวณใกล้เคียงมากว่าครึ่งชีวิต
👉เพิ่มเติม: ถือเป็นการทำตามพินัยกรรมของพระเทพวิทยาคมหรือหลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ หลังจากท่านได้ละสังขารไปเมื่อ 16 พ.ค.2558 และท่านได้บริจาคร่างกายให้เป็น"ครูใหญ่" ให้กับคณะกายวิภาคศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จนกระทั่งเวลาผ่านไปเกือบ4ปี ตามความประสงค์ของสุดท้ายของ "เทพเจ้าแห่งด่านขุนทด" ก็มาถึงหลังจากพิธีพระราชทานเพลิงศพของหลวงพ่อคูณเมื่อ 29 ม.ค.62 ณ เมรุชั่วคราว วัดหนองแวง จ.ขอนแก่น ในช่วงเช้าของวันที่ 30 ม.ค.2562 ได้มีการทำพิธีลอยอังคารของหลวงพ่อคูณ ตามเจตนารมณ์ของท่าน ณ บริเวณพระธาตุหล้าหนองหรือพระธาตุกลางน้ำแห่งนี้ หน่วยรักษาความสงบเรียบร้อยตามลำน้ำโขง ได้ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ จัดขบวนเรือจำนวน 18 ลำเข้าร่วมในการลอยอังคารของหลวงพ่อคูณในครั้งนั้น
ศาลาแก้วกู่ หนองคาย
ผู้สร้าง:ปู่บุญเหลือ สุรีรัตน์ หรือ ปู่เหลือ(พ.ศ.2476–2539)
สร้างเมื่อ: พ.ศ. 2521 สร้างจากความเชื่อและแรงบันดาลใจที่ว่า หลักคำสอนของทุกศาสนาสามารถนำมาผสมผสานกันได้
รูปแบบ: ปฏิมากรรมจากปูนปั้น คำว่า "กู่" ในศาลาแก้วกู่นั้นมีความหมายว่า"กุฏิ","อาวาส" หรือ "ศาลา" เพราะฉะนั้นคำว่าศาลาแก้วกู่จึงเป็นคำซ้อนที่มีความหมายว่า"ศาลาแก้ว"นั่นเอง
ศาลาแก้วกู่เปิดให้เข้าชมสวนปฏิมากรรมปูนปั้นส่วนที่อยู่กลางแจ้งได้ตั้งแต่เวลา 06:00–18:00 แต่จะเปิดให้นักท่องเที่ยวขึ้นไปกราบสักการะร่างของปู่บุญเหลือ สุรีรัตน์ บนศาลาแก้วกู่ชั้น3ได้เฉพาะเวลา 07:00–17:00
ลานพญานาคคู่หน้าวัดลำดวน แลนด์มาร์คแห่งใหม่ของจังหวัดหนองคาย ริมฝั่งโขง
ลานพญานาคคู่หน้าวัดลำดวน: ปัจจุบันสถานที่แห่งนี้ได้กลายเป็นแลนด์มาร์คแห่งใหม่ของจังหวัดหนองคายไปเรียบร้อยแล้วครับ ลำตัวขององค์พญานาคมีความสูง 15 เมตร ความยาวลำตัว 45 เมตร ตั้งอยู่ที่หน้าวัดลำดวนและติดกับตลาดท่าเสด็จในเขตเทศบาลเมืองหนองคายและปัจจุบันสถานที่แห่งนี้ได้กลายเป็นลานวัฒนธรรมประจำจังหวัดหนองคายไปเรียบร้อยแล้ว ปัจจุบันได้ถูกใช้ในการจัดแสดงและกิจกรรมทางวัฒนธรรมและการจัดแสดงต่างๆของจังหวัดหนองคายเป็นแลนด์มาร์คอีก 1 จุด ที่นักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวเมืองหนองคายต้องมาเที่ยวชมความอลังการขององค์พญานาคและถ่ายภาพไว้เป็นที่ระลึกและสามารถเยี่ยมชมได้ตลอดเวลาทั้งกลางวันและกลางคืนโดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆและยังเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชนทั่วไปได้อีกด้วย
พระธาตุบังพวน เมืองหนองคาย
พระธาตุพังพวน เป็นพระธาตุคู่บ้านคู่เมืองหนองคาย ตั้งอยู่ภายในวัดพระธาตุพังพวน เลขที่172หมู่3 ต.พระธาตุพังพวน อ.เมืองหนองคาย จ.หนองคาย พื้นที่ 102 ไร่ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกายและได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
พระธาตุพังพวนสร้างเมื่อปีพ.ศ 2210 เป็นเจดีย์ทรงสี่เหลี่ยมสร้างด้วยศิลาแลงอิฐดินเผา โบราณวัตถุภายในวัดได้แก่ พระพุทธรูปองค์ใหญ่ 1 องค์, พระปรางค์นาคปรก 1 องค์, ศิลาจารึก 1 หลัก, พระปรางค์ 3 องค์, เจดีย์เล็กเจ็ดองค์และองค์พระธาตุพังพวน
👉ความเป็นมาของพระธาตุพังพวน: ตามตำนานอุรังคธาตุกล่าวไว้ว่า พระยาสุวรรณพิงคาน เจ้าเมืองหนองหาน สกลนคร พระคำแดงเจ้าเมืองหนองหานน้อย อุดรธานีและพระยาจุลณีพรหมทัติ เจ้าเมืองจุลณี(ลาวเหนือ แคว้นสิบสองจุไทย) พระยาอินทปัตถนคร เจ้าเมืองอินทปัตถนคร(เขมร)และพระอานันทเสน เจ้าเมืองศรีโคตรบูรณ์หลวง กษัตริย์ทั้ง 5 พระองค์ได้ทรงพระอุปถัมภ์พระมหากัสสปะเถระพร้อมด้วยพระอรหันต์อีก 500 รูป ก่อสร้างพระธาตุพนมจนแล้วเสร็จแล้วต่อมากษัตริย์ทั้ง 5 ได้บรรลุเป็นพระอริยบุคคลและได้ออกเดินทางไปยังประเทศอินเดียเพื่ออัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุจำนวน 45 องค์ มาประดิษฐานในสถานที่ 4 แห่งได้แก่
–อัญเชิญพระธาตุหัวเหน่าจำนวน 29 องค์มาประดิษฐานไว้ที่พระธาตุพังพวนหรือภูเขาหลวง
–อัญเชิญพระธาตุฝ่าพระบาทก้ำขวาจำนวน 9 องค์มาประดิษฐานไว้ที่เจดีย์พระธาตุกลางเมืองล้าหนองคายซึ่งปัจจุบันคือพระธาตุกลางน้ำที่จมอยู่กลางลำน้ำโขง
–อัญเชิญพระธาตุเขี้ยวฝางจำนวน 4 องค์มาประดิษฐานไว้ที่ พระธาตุโพนจิกเวียงวัง บ้านปะโค เมืองหนองคาย
–อัญเชิญพระธาตุเขี้ยวฝางจำนวน 4 องค์มาประดิษฐานไว้ที่เจดีย์พระธาตุหอผ้าหอแพ เมืองเวียงจันทน์
👉พระธาตุพังพวน: นอกจากองค์พระธาตุแล้วยังมีกลุ่มโบราณสถานที่เรียกว่า"สัตตมหาสถาน"ที่สร้างขึ้นตามคติพุทธศาสนา อันหมายถึงการจำลองสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้าหลังจากที่ตรัสรู้แล้วจำนวน 7 แห่งคือ โพธิบัลลังก์, อนิมมิสเจดีย์, รัตนจงกลมเจดีย์, รัตนฆรเจดีย์, อชาปาลนิโครธเจดีย์, มุจลินทเจดีย์และราชายตนะเจดีย์ ซึ่งในวัดพระธาตุพังพวนแห่งนี้นับเป็นที่เดียวในโลกที่ยังหลงเหลือโบราณสถานที่เป็น"สัตตมหาสถาน"จากอดีตครบเจ็ดอย่าง
👉และเป็นสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับพญานาคโดยเฉพาะ"สระมุจลินท์"หรือสระพญานาค"สระน้ำโบราณที่มีบันทึกไว้ในหนังสือใบลานที่เขียนเป็นภาษามคธว่า"สระมงคลน้ำเที่ยงหมัน"
👉เมื่อครั้งได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้าบรรจุไว้ในองค์พระธาตุ ได้เกิดปรากฏการณ์ประหลาดที่มีสายน้ำพวยพุ่งออกมาจากพื้นดิน พระมหาเทพหลวงและพระมหาเทพพล พระภิกษุที่ดูแลองค์พระธาตุ ได้สังเกตเห็นว่ามีน้ำพวยพุ่งขึ้นมาตลอดเวลาจากปล่องภูพญานาคที่เฝ้ารักษาองค์พระธาตุพังพวน ท่านจึงได้ชักชวนญาติโยมขุดสระรองรับน้ำเอาไว้และสร้างรูปปั้นพญานาค 7 เศียรไว้กลางสระแห่งนี้ในรูปแบบศิลปะล้านช้าง
👉ในสมัยพระเจ้าวิชลราช: กษัตริย์แห่งล้านช้างได้เสด็จมานมัสการพระธาตุในช่วงปี พ.ศ. 2043-2063 ได้โปรดให้มีการปรับปรุงสระน้ำแห่งนี้และนิมนต์พระคุณเจ้าจัดทำพิธีมหาพุทธาภิเษก สระมุจลินท์ สระมุจลินท์แห่งนี้ถือเป็นบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์แล้วได้ถูกนำน้ำศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ไปใช้ในพิธีสำคัญในราชสำนักล้านช้างเป็นต้นมา
👉ต่อมาในสมัยสมเด็จพระไชยเชษฐาธิราช(พ.ศ. 2093-2115) กษัตริย์ล้านช้างได้โปรดเกล้าให้สร้างพระพุทธรูปนาคปรก 9 เศียร ไว้ในบริเวณใกล้เคียงกันด้วยซึ่งเห็นได้ว่าในยุคสมัยพุทธกาลก็มีเรื่องที่เกี่ยวข้องกับพญานาคให้เห็นได้ในทุกยุคทุกสมัยแม้ว่าจะไม่สามารถพิสูจน์ได้ก็ตาม
👉ปัจจุบันสระมุจลินท์แห่งนี้: ถือเป็นสระน้ำสำคัญประจำจังหวัดหนองคายน้ำในสระน้ำแห่งนี้ถูกนำไปใช้ในพิธี "สรงมูรธราชาภิเษก"หรือ "พิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา" และพิธีสำคัญในรัชกาลปัจจุบันเป็นประจำ
👉เชื่อกันว่า: การได้ไหว้สักการะพระธาตุอันเป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระอริยสงฆ์นั้นจะนำมาซึ่งความเป็นสิริมงคลในชีวิตของผู้ที่สักการะบูชาด้วยจิตใจอันบริสุทธิ์🙏🙏🙏🙏🙏🙏🙏🙏🙏🙏🙏🙏🙏
👉เวลาเปิดทำการ: 08:00–17:00
⭐วัดศรีชมภูองค์ตื้อ ตำบลน้ำโมง อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย ประวัติและความเป็นมา
วัดศรีชมภูองค์ตื้อ เป็นวัดสังกัดมหานิกาย ตั้งอยู่เลขที่ 1 หมู่ 8 บ้านน้ำโมง ตำบลน้ำโมง อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย
มีที่ดินที่ตั้งวัด เนื้อที่ 11 ไร่ 2 งาน 14 ตารางวา โฉนดเลขที่ 1212 มีอาณาเขตดังนี้
ทิศเหนือ ประมาณ 220 เมตร จดที่มีการครอบครองทิศตะวันออก ประมาณ 140 เมตร จดลำห้วยโมงทิศใต้ ประมาณ 270 เมตร จดถนนสาธารณประโยชน์ทิศตะวันตก ประมาณ 121 เมตร จดถนนสาธารณประโยชน์
วัดศรีชมภูองค์ตื้อได้ถูกสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2105 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อ พ.ศ. 2105 มีเขตวิสุงคามสีมา ขนาดกว้าง 7 เมตร ยาว 13 เมตร โบราณวัตถุในวัดที่สามารถพบได้ในปัจจุบันมีดังต่อไปนี้
1) หลวงพ่อพระเจ้าองค์ตื้อ2) พระพุทธสิหิงค์ พระพุทธรูปศิลปะสมัยล้านช้าง3) เจดีย์หางนกยูง 2 เจดีย์4) เจดีย์ดอกบัว 1 เจดีย์5) หลักศิลาจารึกบันทึกเป็นอักษรขอม ในอดีตมี 11 หลัก ปัจจุบันเหลือ 4 หลัก
⭐ประวัติและความเป็นมาของพระพุทธรูปพระเจ้าองค์ตื้อแห่งวัดศรีชมภู ตำบลน้ำโมง อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย
⭐ประวัติพระเจ้าองค์ตื้อ:
สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช ซึ่งเป็นกษัตริย์ครองเมืองเวียงจันทน์ในขณะนั้น
พระเจ้าองค์ตื้อถูกสร้างขึ้นโดยพระภิกษุสงฆ์และพุทธศาสนิกชนทั้งหลายที่อาศัยอยู่ในบ้านน้ำโมง(ชื่อเดิม บ้านน้ำโหม่ง)และผู้คนที่อยู่ในละแวกใกล้เคียง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นที่เคารพสักการะของพุทธศาสนิกชนทั้งหลายและอนุชนรุ่นหลังในภายภาคหน้า
โดยเริ่มจากการเรี่ยไร ทองเหลือง ทองแดง ตามกำลังศรัทธาของผู้คนในละแวกนั้นและพื้นที่ใกล้เคียง รวบรวมแล้วได้ทองเหลืองทองแดงรวมกันแล้วได้น้ำหนัก 1 ตื้อ ("ตื้อ" คือมาตราน้ำหนักของคนโบราณทางภาคอีสานในสมัยนั้น 100 ชั่ง=1หมื่น 10 หมื่น=1แสน 10แสน=1ล้าน 10ล้าน=1โกฏิ 10โกฏิ=1กือ 10กือ=1ตื้อ)
หลังจากนั้นพระสงฆ์และชาวบ้านก็ได้รวมกันหลอมทองที่ได้มาลงเบ้าเพื่อรอเป็นองค์พระพุทธรูป การหล่อดำเนินการมาหลายวันจนถึงขั้นตอนสุดท้ายคือการหล่อตอนพระเกศ ในช่วงเช้าของการหล่อตอนพระเกศ พระสงฆ์และชาวบ้านต่างก็พยายามช่วยกันตลอดช่วงเช้าแต่ไม่สำเร็จจนถึงเวลาเพลของพระสงฆ์ บรรดาชาวบ้านก็แยกย้ายกันพักผ่อนส่วนพระภิกษุสงฆ์ก็ขึ้นไปฉันเพลบนศาลา
หลังเวลาเพลผ่านไปบรรดาพระภิกษุสงฆ์และชาวบ้านก็กลับมาเริ่มยกเบ้าเทใหม่อีกรอบแต่สิ่งที่ปรากฏคือเบ้าทองถูกเทหลอมขึ้นรูปตอนพระเกศเรียบร้อยแล้วอย่างสวยงามอย่างน่าอัศจรรย์ ซึ่งดูจากสายตาแล้วมีความงดงามประณีตเกินกว่าฝีมือช่างที่มีอยู่ในขณะนั้นจะสามารถทำได้และมาทราบในภายหลังว่า ได้มีบุรุษผู้หนึ่งนุ่งขาวห่มขาวได้มายกเบ้าเทจนแล้วเสร็จแล้วบุรุษผู้นั้นก็ได้วิ่งไปทางทิศเหนือของบ้านน้ำมูลมีผู้พบเห็นบุรุษผู้นี้ยืนลังเลอยู่ริมหนองน้ำแห่งหนึ่งก่อนจะหายตัวไป (ปชาวบ้านจึงเรียกหนองน้ำแห่งนั้นว่า "หนองโลเล" มาจนถึงปัจจุบันนี้) และชาวบ้านต่างก็เชื่อเชื่อตรงกันว่าบุรุษนุ่งขาวห่มขาวผู้นี้คือเทวดาที่มีศรัทธาแรงกล้าต่อพุทธศาสนาแปลงกายลงมาเพื่อช่วยเทเบ้าทองหล่อพระพุทธรูปนั่นเอง
หลังจากที่ทำการหล่อพระพุทธรูปเสร็จเรียบร้อยแล้วบรรดาชาวบ้านและพระภิกษุสงฆ์ก็ได้นำพระพุทธรูปขึ้นมาประดิษฐานไว้ในวัดต่อมาได้มีขุนนางชั้นผู้ใหญ่แห่งเมืองเวียงจันทน์มาเที่ยวบ้านน้ำโมงชื่อท่านหมื่นจันทร์และท่านหมื่นราม ทั้ง 2 ท่านเมื่อได้เห็นพระเจ้าองค์ตื้อก็เกิดแรงศรัทธาเลื่อมใสทั้ง 2 ท่านจึงได้ร่วมกันก่อทานพระพุทธรูปขึ้นมาใหม่ หลังจากนั้นเมื่อทั้งสองเดินทางกลับไปที่เมืองเวียงจันทน์จึงได้เข้ากราบทูลพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชซึ่งเป็นกษัตริย์ผู้ครองเมืองเวียงจันทน์ในขณะนั้น เมื่อพระองค์ได้ทราบความดังกล่าวพระองค์จึงได้เสด็จมาทอดพระเนตรพระเจ้าองค์ตื้อด้วยพระองค์เอง เมื่อพระองค์ทรงได้ทอดพระเนตรพระเจ้าองค์ตื้อก็ได้ทรงเกิดแรงศรัทธาต่อพระเจ้าองค์ตื้อเป็นอย่างมากและพระองค์ได้ทรงสร้างวิหารขึ้นมาใหม่เพื่อประดิษฐานพระพุทธรูปพระเจ้าองค์ตื้อและส่งปักปันเขตแดนให้เป็นเขตข้าทาสบริพารของพระเจ้าองค์ตื้อดังนี้
1. ทางทิศตะวันออกถึงบ้านมะก่องเชียงขวา(สันนิษฐานว่าอยู่ฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงตรงข้ามอำเภอโพนพิสัย)
2.ทางทิศตะวันตกถึงบ้านหลากเมืองโสม(อำเภอน้ำโสม จ.อุดรธานี ในปัจจุบัน)
3.ทางทิศใต้ถึงบ้านบ่อเอือดหรือบ้านบ่ออาด อยู่ในอำเภอเพ็ญ จังหวัดอุดรธานี
4.ทางทิศเหนือไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจน สันนิษฐานว่าน่าจะเป็น บ้านพานพ้าว อำเภอศรีเชียงใหม่ หนองคายและเมืองจินายโม่ที่อยู่ใน สปป.ลาวในปัจจุบัน